วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แบบทดสอบเรื่องดนตรีไทย[แก้ไขครั้งที่3]

http://www.mediafire.com/?qnntfvpawh0ef03

แบบทดสอบเรื่องดนตรีไทย แบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ

1. เครื่องดนตรีไทย

2. วงดนตรีไทย

3.คีตกวีดนตรีไทย

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

คีตกวีดนตรีไทย

นายเฺฉลิม บัวทั่ง
 
        
            ครูเฉลิม บัวทั่ง เป็นบุตรของนายปั้นและนางถนอม บัวทั่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นบุตรคนที่ ๑๘ ของนายปั้น บิดาของครูเฉลิม เป็นนักดนตรีสังกัดอยู่ในวังพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม และเป็นเพื่อนรักกับพระยาประสานดุริยะศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เมื่อกรมหมื่นพิชัยฯ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น นักดนตรีในวงนี้ก็แยกย้ายกันไป ครูปั้นกลับไปตั้งวงดนตรีเองที่บ้านคลองบางม่วง จังหวัดนนทบุรี ครูเฉลิมเล่าว่า ท่านได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์มาตั้งแต่เด็ก พออายุได้ ๖ ปี บิดาก็จับมือให้ตีระนาดแล้วฝึกสอนให้เรื่อยมาจนสามารถเล่นได้รอบวงเมื่อครู อายุได้ ๑๑ ปี ครูปั้นจึงส่งตัวให้มาเรียนดนตรีไทยกับพระยาประสานดุริยะศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้ฝึกปรืออยู่ไม่นาน พระยาประสาน ฯ ก็ส่งขึ้นไปตีระนาดถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระเครื่องใหญ่ได้รับคำชมเชยว่า ฝีมือดี จะเก่งต่อไปข้างหน้าแต่ครูเฉลิมก็ได้อยู่กับ พระยาประสานฯ ไม่นานนัก ท่านพระยาฯ ก็ถึงแก่กรรม ขณะนั้นครูมีอายุได้ ๑๔ ปี
         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้พระยาอนิรุทธเทวา (ฟื้น พึ่งบุญ ณ อยุธยา) นำครูเฉลิมไปอยู่ด้วย ครูจึงได้ศึกษาหาความรู้ด้านดนตรีจากครูอื่น ๆ อีกหลายสำนักรวมทั้งที่สำนักท่านจางวางทั่ว พาทยโกศล ด้วย ครูเฉลิม ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนพรานหลวง ตั้งแต่อายุได้ ๑๑ ปี จนอายุได้ ๑๕ ปี ก็ลาออกมารับราชการเป็นนักดนตรีอยู่ในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมา ถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมปี่พาทย์และโขนหลวงก็ถูกยุบมารวมอยู่ในกรมศิลปากร ในระยะนี้มีการปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศเป็นการใหญ่ ครูเฉลิม "ถูกดุลย์" ออกจากราชการไปเป็นครูสอนดนตรีไทยที่สโมสรบันเทิงของสามัคคยาจารย์สมาคม ประมาณ ๑ ปี แล้วไปสอนอยู่ที่กรมทหารอากาศ ดอนเมือง สมัยหลวงกาจสงครามเป็นเสนาธิการ ประมาณ ๖ เดือน แล้วกลับเข้ารับราชการในกรมศิลปากรอีกระยะหนึ่ง ก็ลาออกไปประกอบอาชีพดนตรีเป็นส่วนตัว ระหว่างนี้เกิดสงครามอินโดจีน ซึ่งประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
        เมื่อสงครามสงบแล้ว ครูเฉลิมเข้ารับราชการอีก ในสังกัดกรมที่ดิน ไปประจำอยู่ประเทศเขมร ประมาณ ๔ เดือน ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครูจึงอพยพหนีสงครามและลาออกจากราชการอีก จนกระทั่งพลเอกไสว ไสวแสนยากร อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้เรียกตัวครูให้ไปประจำวงดนตรีของกรมตำรวจ ครูได้ฝากผลงานไว้ที่กรมตำรวจหลายเพลง อาทิ เพลงมอญอ้อยอิ่งเถา ขอมใหญ่เถา เขมรพายเรือเถา เขมรเหลืองเถา ลาวเลียบค่ายเถา และได้นำเพลงหน้าพาทย์ของเก่า พร้อมกับแต่งบางส่วนขึ้นใหม่ใช้บรรเลงบรรเลงเป็นเพลงชุดประกอบเรื่อง "วานรินทร์ นิ้วเพชร และอารยวิถี" อันเป็นเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงนิพพาน แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ผลงานของครูชุดนี้ไม่แพร่หลาย
         ต่อมาครูเฉลิมลาออกจากกรมตำรวจไปประกอบอาชีพส่วนตัว และรับสอนดนตรีไทย ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อาทิเช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตนนทบุรี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎเกล้า และเป็นหัวหน้าวงดนตรีเสริมมิตรบรรเลง ท่านได้มีโอกาสประดิษฐ์เพลงไทยขึ้นอีกมากมาย เช่น โหมโรงประสานเนรมิตร โหมโรงจามจุรี โหมโรงสรรเสริญพระจอมเกล้า โหมโรงพิมานมาศ โหมโรงมหาปิยะ โหมโรงรามาธิบดี ลาวลำปางใหญ่เถา ลาวลำปางเล็กเถา ลาวกระแซเถา ลาวกระแตเล็กเถา ลาวเจริญศรีเถา สีนวลเถา ลาวครวญเถา ดอกไม้เหนือเถา เคียงมอญรำดาบเถา เขมรใหญ่เถา สาวสอดแหวน ประพาสเภตรา หงส์ทอง (ทางวอลซ์) ล่องลม และได้แต่งเพลงพิเศษเนื่องในโอกาสเฉลิมพระยศสมด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วย "เกริ่นเจ้าฟ้า ต่อด้วยเพลงประชุมเทพ"
         ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ครูได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรม ราชูปถัมภ์ เสนอชื่อให้ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดช ฯ ในฐานะนักดนตรีไทยตัวอย่าง ซึ่งมีนักดนตรีไทยที่ได้รับพระราชทานโล่ครั้งนี้เพียง ๔ คน คือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ครูเฉลิม บัวทั่ง คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ และครูบุญยง เกตุคง ซึ่งครูเฉลิมบอกว่าเป็นรางวัลที่ครูภูมิใจที่สุดในชีวิต นอกจากนี้เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ครูได้แต่งเพลงเข้าประกวดรางวัลพิณทองซึ่งธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้ดำเนินการจัดประกวด เพลงของครูก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือเพลงปิ่นนคเรศเถา ครูเฉลิมแต่งงานกับนางไสว มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งสิ้น ๑๑ คน เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก ๔ คน บุตรธิดาของท่านที่มีฝีมือในทางดนตรีไทยได้แก่ นายพัฒน์ บัวทั่ง คนระนาดเอก รับราชการอยู่ที่กองการสังคีต กรมศิลปากร นางสุพัฒน์ บัวทั่ง นักร้องกองดุริยางค์ทหารเรือ และนางสุธาร ศุขสายชล จะมีฝีมือจะเข้ดีมาก นอกจากจะมีวงปี่พาทย์และมโหรีของตัวเองแล้ว ครูเฉลิมยังทำอังกะลุงส่งออกขายด้วย ท่านได้เขียนโน้ตเพลงเสียงประสานสำหรับอังกะลุงไว้มาก ผลงานทางด้านอังกะลุงส่วนใหญ่มีบันทึกไว้ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และพักฟื้นที่บ้าน ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ครูได้เข้ารับพระราชท่านโล่และเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๕๒๙ นับเป็นเกียรติสูงส่งและความปลื้มปิติสูงสุดครั้งสุดท้ายในชีวิตของครู ครูถึงแก่กรรมในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๐ รวมอายุได้ ๗๗ ปี


คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง







             คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง เป็นบุตรของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และนางโชติ ศิลปบรรเลง เกิดที่วังบูรพาภิรมย์ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม ๔ คน คือ คุณหญิงชิ้น นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง สาคริก) นายประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง และนางชัชวาลย์ รุ่งเรือง มีพี่น้องร่วมบิดา ซึ่งเกิดจากคุณแม่ ฟู อีก ๔ คน คือ นางภัลลิกา นายขวัญชัย นาวาเอกสมชาย และนายสนั่น ศิลปบรรเลง คุณหญิงชิ้น เรียนหนังสือจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ จากโรงเรียนราชินี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ และสอบได้วุฒิครู พ.ม. ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้ยึดอาชีพเป็นครูมาตลอดจนเกษียณอายุ โดยเริ่มรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนเบญจมาราชาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร ในฐานะผู้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนร่วมกับหลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกนาฏดุริยางค์เป็นเวลา ๒๐ ปี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงย้ายมาประจำอยู่ที่โรงเรียน ฝึกหัดครูพระนคร สังกัดกรมการฝึกหัดครู พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับทุนไปดูงานด้านโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ณ ประเทศอิตาลี ประเทศอังกฤษ และประเทศอเมริกา กลับมาแล้วย้ายไปประจำอยู่โรงเรียนฝึกหัดครูธนบุรี แล้วย้ายไปประจำที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร จนเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ปัจจุบันนี้ ( พ.ศ. ๒๕๒๕ ) ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
        คุณหญิงชิ้น เรียนดนตรีจากบิดาโดยตรงชำนาญทั้งการบรรเลง ขับร้อง ประพันธ์บทเพลง จนแม้แต่การบันทึกบทเพลงลงเป็นโน้ตแบบต่าง ๆ เป็นผู้รวบรวมผลงานจากบิดาไว้มากที่สุดแล้วถ่ายทอดให้แก่ศิษย์อย่างไม่ รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีความอุตสาหะ อดทนเป็นยอดเยี่ยมและเป็นครูที่ประเสริฐที่สุดคนหนึ่ง ทำหน้าที่ครูอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการตั้งใจสอนและเสียสละเพื่อศิษย์เป็นอันมาก เป็นผู้ร่วมงานก่อตั้งวงดนตรีของคุรุสภา เป็นกรรมการจัดบทวิทยุโรงเรียน ก่อตั้งโรงเรียนนาฏศิลป์และดนตรีผกาวลี และร่วมงานบันทึกเพลงกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐคาลิฟอร์เนีย (ยูซีแอลเอ) รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งวงดนตรีโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ซึ่งศิษย์จากวงนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นดนตรีไทยระดับมัธยมศึกษาที่มีฝีมือดี ได้รับรางวัลในการบรรเลงดนตรีไทยอยู่เป็นประจำ พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับพระราชทานตราจตุตถจุลจอมเกล้า แล้วได้เลื่อนเป็นตราตติยจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ แม้ว่าสุขภาพของท่านจะไม่สู้ดีนัก เนื่องจากเป็นโรคหัวใจ ก็ยังจัดทำหนังสือชุมนุมผลงานหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และเป็นประธานจัดงานประกวดดนตรีไทยระดับชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มีผลให้นิสิตนักศึกษา นักเรียน ทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัดเข้ามาร่วมประกวดเป็นครั้งแรก นับเป็นงานใหญ่ชิ้นล่าสุดของท่านในปี พ.ศ. ๒๕๒๕
        จากผลงานความอุตสาหะของท่าน ทำให้ท่านได้รับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ท่านได้รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะ การแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิตของท่าน ในด้านชีวิตครอบครัว ท่านสมรสกับนายประสงค์ ไชยพรรค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีบุตรี ๑ คน ชื่อ มธุรส วิสุทธกุล เป็นอาจารย์สอนอยู่ภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คุณหญิงชิ้น ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ รวมอายุได้ ๘๒ ปี



นายบุญยงค์ เกตุคง
              

          นายบุญยงค์ เกตุคง ครูบุญยงค์ เป็นบุตรชายคนโตของ นายเที่ยง และนางเขียน เกตุคง เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๔ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่ตำบลวัดสิงห์ เป็นหลานปู่หลานย่าของนายใจนางเพียร ชาวสวน ตำบลดาวคนอง เป็นหลานตาหลานยายของ นายเปี่ยมและนางภู่ ศรีประเสริฐ ตากับยายและแม่เป็นคนอัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร มีน้องชาย ๒ คน ชื่อบุญยัง และทองอยู่ มีน้องสาว ๑ คน ชื่อเบญจางค์ น้องชายชื่อบุญยัง เป็นนักดนตรีฝีมือดี เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านตาและยาย จังหวัดสมุทรสาคร อายุได้ ๘ ขวบ เริ่มเรียนดนตรีกับครูละม้าย หรือทองหล่อ ที่บ้านข้างวัดหัวแหลม พอตีฆ้องทำเพลงโหมโรงเช้า โหมโรงเย็นได้ก็เลิกเรียนขณะนั้นอายุได้ ๑๐ ปี ในระยะนั้น บิดา ของครูบุญยงค์ เป็นนายโรงลิเก ให้ชื่อในการแสดงว่า “พยอม” มีชื่อเสียงว่าแสดงดีทุกบทตั้งแต่บทพระเอก จนถึงตัวตลก แสดงอยู่กับคุณ “หมื่นสุขสำเริงสรวล” ประจำอยู่ที่วิกบางลำพู กรุงเทพฯ บิดามีภรรยาอีกคนหนึ่ง เป็นคนจีนชื่อ “กวย” มีบ้านอยู่ที่ถนนสิบสามห้าง บางลำภู  ในวัยหนุ่มครูได้อยู่กับมารดาเลี้ยงคนนี้ ซึ่งรักและเมตตาครูมาก
         อายุได้ราว ๑๑ ปี ได้ไปเรียนดนตรีต่อกับครูหรั่ง พุ่มทองสุก ที่บ้านปากน้ำ ภาษีเจริญ พร้อม ๆ กับ ครูสมาน ทองสุโชติ และครูบุญยัง ผู้น้องชาย ได้ต่อเพลงต่าง ๆ จนถึงเดี่ยวฆ้องเล็กได้ เรียนอยู่กับครูหรั่งประมาณ ๒ ปี ก็ย้ายไปเรียนกับอาจารย์เทิ้ม พระวัดช่องลม จังหวัดสมุทรสาคร จนอายุได้ ๑๖ ปี จึงไปช่วยบิดาตีระนาดอยู่กับคณะลิเกได้ต่อเพลงจาก ครูประสิทธิ์ เกตุคง ผู้เป็นอา อีกหลายเพลง ประเภทเพลง ๒ ชั้น ที่ลิเกชอบร้องอยู่เสมอ ๆ และได้เป็นศิษย์ของครูเพชร จรรย์นาค ครูดนตรีที่มีชื่อเสียงแห่งจังหวัดอยุธยา (ศิษย์หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) จนถึงออกวงร่วมกับครูเพชร ประชันวงตามงานต่าง ๆ ทั้งยังได้ใกล้ชิดกับครูชั้น ครูชั้น ดุริยประณีต ซึ่งมาตีระนาดให้กับวงลิเกของบิดา จึงได้เป็นศิษย์ของบ้านดุริยประณีต ได้ต่อเพลงกับครูสอน วงฆ้อง และเล่นดนตรีมากับครูสืบสุด (ไก่) ดุริยประณีต จนมีความสามารถทำเพลงสำหรับเดี่ยวระนาดได้  ต่อมาได้น้องสาวของครูชื้น ดุริยประณีต คนหนึ่งเป็นภรรยา แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน
         พ.ศ. ๒๔๘๕ น้ำท่วมกรุงเทพมหานครครั้งใหญ่ทำให้การเล่นลิเกซบเซาลงมาก ครูจึงหันมายึดอาชีพแจวเรือจ้างจนหมดฤดูน้ำท่วม แล้วไปอยู่เรียนดนตรีกับครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เป็นเวลาอีกปีเศษ ความสามารถในทางดนตรีของครูบุญยงค์นั้นมีมาก สามารถบรรเลงปี่พาทย์ได้ทุกประเภท ทั้งประกอบการแสดงโขน ละคร ลิเก จนถึงการประชันวงปี่พาทย์ เคยร่วมวงดนตรีกับ คณะทองใบ รุ่งเรือง คณะดุริยประณีต คณะพาทยโกศล คณะครูเพชร จรรย์นาค เป็นต้น ครูบุญยงค์ แต่งเพลงครั้งแรก ตั้งแต่เมื่อมีอายุได้ ๑๘ ปี แล้วได้นำไปบรรเลงในงานไหว้ครูครั้งหนึ่งที่บ้านหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้รับคำชมเชยว่า ทางบรรเลงดี จึงมีกำลังใจ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุได้ ๒๖ ปี จึงร่วมมือกับครูบุญยัง น้องชาย หัดลิเก แสดงลิเกเป็นล่ำเป็นสัน จนถึงได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดลิเก ทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับถ้วยทองคำหนัก ๕ บาท และเงินรางวัล หนึ่งหมื่นบาท โดยมี พร ภิรมย์ และครูบุญยัง เกตุคง ร่วมแสดงด้วย ใช้ชื่อคณะว่า “เกตุคงดำรงศิลป์”
         เมื่อ พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ครูบุญยงค์ ได้เข้ารับราชการเป็นนักดนตรี พร้อมๆ กับครูสมาน ทองสุโชติ ครูประสงค์ พิณพาทย์ ครูระตี วิเศษสุรการ ครูฉลวย จิยะจันทน์ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ จึงมีโอกาสได้เป็นศิษย์ของครูพุ่ม บาปุยะวาส ได้ร่วมงานแต่งเพลงกับครูพุ่มหลายเพลง รับการการอยู่ ณ กรมประชาสัมพันธ์ได้ประมาณ ๕-๖ ปี ก็ลาออกไปเป็นนักดนตรีประจำอยู่ไทยทีวีสีช่อง ๔ บางขุนพรหม ซึ่งเพิ่งเปิดดำเนินกิจการใหม่ อยู่ได้ประมาณ ๕ ปี ก็ลาออกมาเป็นนักดนตรีประจำวงดนตรีไทยของ สำนักงานกรุงเทพมหานคร จนเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
         ผลงานทางด้านการแต่งเพลงของครูมีมากหลายเพลง อาทิ โหมโรงสามสถาบัน โหมโรงจุฬามณี โหมโรงสามจีน เพลงเงี้ยวรำลึกเถา เริงพลเถา ศรีธรรมราชเถา ชเวดากองเถา พิรุณสร่างฟ้าเถา เพชรน้อยเถา(ร่วมกับครูพุ่ม) สยามานุสติเถา เดือนหงายกลางป่าเถา น้ำลอดใต้ทรายเถา เกษรสำอางค์เถา ศรีอโศกเถา เป็นต้น และยังมีทางเดี่ยวสำหรับเพลงต่าง ๆ และเครื่องมือต่าง ๆ อีกเป็นอันมาก ผลงานของครูบุญยงค์มีความผูกพันอยู่กับ ครูพุ่ม บาปุยะวาส และครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ หลายเพลง ผลงานการแต่งเพลงและการเรียบเรียงเพลงของครูบุญยงค์ ในระยะหลังนี้ มีชื่อเสียงแพร่หลายไปยังต่างประเทศคือ ไปร่วมงานกับ นายบรู๊ซ แกสตัน นักดนตรีเอกชาวเยอรมันจัดทำเพลงชุด เจ้าพระยาคอนแชร์โต้ บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไทยผสมกับเครื่องดนตรีฝรั่งเป็นที่นิยมชมชอบกันโดย ทั่วไป
       ซึ่งผลงานนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นอัจฉริยบุคคลทางด้านดนตรีของไทยอีกผู้หนึ่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ครูได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๕๓๑ นับเป็นเกียรติประวัติสูงส่งในชีวิตของครู ปัจจุบันครูพักอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๓/๔ หมู่ ๔ ซอยเรืองรัตน์ ต.บางขุนเทียน อ.บางขุนเทียน กรุงเทพฯ ๑๐๑๕๐

วงเครื่องสาย

1. วงเครื่องสายไทย
 
              วงเครื่องสายไทย เป็นวงดนตรีที่เหมาะสำหรับการบรรเลงในอาคาร ในลักษณะของการขับกล่อมที่เป็นพิธีมงคล เช่น พิธีมงคลสมรสและงานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น วงเครื่องสายไทยนี้มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า วงเครื่องสายมีอยู่ 2 ขนาด คือ วงเครื่องสายวงเล็กและวงเครื่องสายเครื่องคู่
 
                1.1 วงเครื่องสายวงเล็ก ประกอบด้วย เครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายและเป่าอย่างละหนึ่งเครื่อง ดังนี้
    จะเข้ 1 ตัว
    ซอด้วง 1 คัน
    ซออู้ 1 คัน
    ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา
    โทน-รำมะนา 1 คู่
    ฉิ่ง 1 คู่
    ฉาบ 1 คู่
    กรับ 1 คู่
    โหม่ง 1 ใบ
  
               1.2 วงเครื่องสายเครื่องคู่ วงเครื่องสายเครื่องคู่ประกอบด้วย เครื่องดนตรีที่อยู่ในวงเครื่องสายวงเล็กเป็นหลัก โดยเพิ่มจำนวนของเครื่องดนตรีประเภททำทำนองจากเครื่องมือละหนึ่งเครื่องเป็น สองเครื่องหรือเป็นคู่ ดังต่อไปนี้
    จะเข้ 2 ตัว
    ซอด้วง 2 คัน
    ซออู้ 2 คัน
    ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา
    ขลุ่ยหลิบ  1 เลา
    ฉิ่ง 1 คู่
    ฉาบ 1 คู่
    กรับ 1 คู่
    โหม่ง  1 ใบ
    โทน-รำมะนา 1 คู่


2. วงเครื่องสายผสม
 

            เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีอย่างที่สังกัดในวงเครื่องสายไทย เพียงแต่เพิ่มเอาเครื่องดนตรีที่อยู่นอกเหนือจากวงเครื่องสายไทย หรืออาจจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมือง หรือเครื่องดนตรีของต่างชาติก็ได้ มาบรรเลงร่วมด้วย เช่น ไวโอลิน ออร์แกน ขิม หีบเพลงชัก เปียโน ระนาด แคน (หรือแม้แต่ซอสามสายอันเป็นเครื่องสีก็ตาม) เป็นต้น ซึ่งเครื่องดนตรีที่นำมาผสมนั้นต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของเสียงด้วยว่ามีความ กลมกลืนมากน้อยเพียงใด 
            การเรียกชื่อวงจะเรียกตามตามเครื่องดนตรีที่นำมาผสม เช่น ถ้านำขิมมาบรรเลงร่วมก็จะเรียกว่า วงเครื่องสายผสมขิม ถ้าหากนำออร์แกนมาบรรเลงร่วม ก็เรียกว่า วงเครื่องสายผสมออร์แกน ฯลฯ สำหรับโอกาสในการบรรเลงนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับวงเครื่องสายไทยทุกประการ
             ในบางครั้งวงเครื่องสายประเภทนี้จะ นำเอาจะเข้ซึ่งมีเสียงดังออกเสียด้วย เนื่องจากเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงร่วมนั้นมีเสียงเบากว่ามาก เช่น ในวงเครื่องสายผสมขิมหรือไวโอลินบางวง เป็นต้น
 
3. วงเครื่องสายปี่ชวา
 
             ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายไทยเป็นหลัก และนำเอาปี่ชวามาบรรเลงแทนขลุ่ยเพียงออ คงไว้แต่เพียงขลุ่ยหลิบซึ่งมีเสียงสูง และเปลี่ยนมาใช้กลองแขกบรรเลงจังหวะหน้าทับแทน วงเครื่องสายปี่ชวามี ๒ ขนาด คือ วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็กและวงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่
 
            3.1 วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็ก ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้
    ปี่ชวา 1 เลา
    ขลุ่ยหลิบ  1 เลา
    ซอด้วง  1 คัน
    ซออู้ 1 คัน
    จะเข้ 1 ตัว
    กลองแขก 1 คู่
    ฉิ่ง 1 คู่
    ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม


           3.2 วงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็กเป็นหลัก โดยเพิ่มเครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายให้เป็น 2 หรือคู่ ดังนี้
    ปี่ชวา 1 เลา
    ขลุ่ยหลิบ  1 เลา
    ซอด้วง 2 คัน
    ซออู้ 2 คัน
    จะเข้ 2 ตัว
    กลองแขก 1 คู่
    ฉิ่ง 1 คู่
    ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม



 

วงมโหรี

             วงมโหรี เป็นวงดนตรีผสม ตั้งแต่มีไม่กี่สิ่ง จนกลายเป็นวงเครื่องสายผสมกับวงปี่พาทย์ดังจะกล่าวต่อไปนี้
o              1.วงมโหรีโบราณ
o              2.มโหรีวงเล็ก
o              3.วงมโหรีเครื่องคู่
o              4.วงมโหรีเครื่องใหญ่
1.วงมโหรีโบราณ
          มีเครื่องดนตรีและผู้บรรเลงเพียง ๔ คน
          ๑. ซอสามสาย สีเก็บบ้าง โหยหวนเสียงยาวๆ บ้าง มีหน้าที่คลอเสียงคนร้องและดำเนินทำนองเพลง
          ๒. กระจับปี่ ดีดดำเนินทำนองถี่บ้างห่างบ้าง เป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง
          ๓. โทน ตีให้สอดสลับไปแต่อย่างเดียว (เพราะยังไม่มีรำมะนา) มีหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับ
          ๔. กรับพวง ตีตามจังหวะห่างๆ มีหน้าที่กำกับจังหวะย่อย ซึ่งคนร้องเป็นผู้ตี
          วงมโหรีอย่างนี้ได้ค่อยๆ เพิ่มเครื่องดนตรีมากขึ้นเป็นขั้นๆ ขั้นแรกเพิ่มรำมะนาให้ตีคู่กับโทน แล้วเพิ่มฉิ่งแทนกรับพวง ต่อมาก็เพิ่มขลุ่ยเพียงออ และนำเอาจะเข้เข้ามาแทนกระจับปี่ต่อจากนั้น ก็นำเอาเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายและวง ปี่พาทย์เข้ามาผสม แต่เครื่องดนตรีที่นำมาจากวงปี่พาทย์นั้น ทุกๆ อย่างจะต้องย่อขนาดให้เล็กลง เพื่อให้เสียงเล็กและเบาลง ไม่กลบเสียงเครื่องดีดเครื่องสีที่มีอยู่แล้ว
2.มโหรีวงเล็ก
          มีเครื่องดนตรีดังนี้
          ๑. ซอสามสาย (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงมโหรีโบราณ)
          ๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)
          ๓. ฆ้องวง เนื่องจากย่อขนาดเล็กลงกว่าฆ้องวงใหญ่ และใหญ่กว่าฆ้องวงเล็กในวง ปี่พาทย์ จึงมักเรียกว่า "ฆ้องกลาง" หรือฆ้องมโหรี" วิธีตีและหน้าที่เหมือนฆ้องวงใหญ่ในวงปี่พาทย์
          ๔. ซอด้วง (วิธีสีเหมือนในวงเครื่องสาย แต่ไม่ต้องเป็นผู้นำวง เพราะมีระนาดเอกเป็นผู้นำวงอยู่แล้ว)
          ๕. ซออู้ (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
          ๖. จะเข้ (วิธีดีดและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
          ๗. ขลุ่ยเพียงออ (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
          ๘. โทน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
          ๙. รำมะนา (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
          ๑๐. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)
"
3.วงมโหรีเครื่องคู่
          มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวง ทั้งวิธีบรรเลงและหน้าที่ เหมือนกับวงมโหรีวงเล็กทุกอย่างแต่เพิ่มซอด้วงเป็น ๒ คัน ซออู้เป็น ๒ คัน จะเข้เป็น ๒  ตัว กับเพิ่มเครื่องดนตรีอีก ๓ อย่าง คือ
          ๑. ขลุ่ยหลิบ วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสายเครื่องคู่
          ๒. ระนาดทุ้ม วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่
          ๓. ฆ้องวงเล็ก มีขนาดเล็กกว่าฆ้องวงเล็กในวงปี่พาทย์ วิธีตีและหน้าที่เหมือนอย่างในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ บางทีก็เพิ่มซอสามสายคันเล็ก เรียกว่า ซอสามสายหลิบ อีก ๑ คัน
4.วงมโหรีเครื่องใหญ่
          มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวง ตลอดจนวิธีบรรเลงและหน้าที่เหมือนกับวงมโหรีเครื่องคู่ทุกอย่าง แต่เพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ
          ๑. ระนาดเอกเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
          ๒. ระนาดทุ้มเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่


วงปี่พาทย์

วงปี่พาทย์ คำว่า "ปี่พาทย์" หมายถึงการประสมวงที่มีปี่ และเครื่องเคาะ (ตี) ร่วมด้วย สมัยสุโขทัยได้เริ่มมี "วงปี่พาทย์เครื่องห้า" ขึ้นมาก่อน โดยใช้เครื่องดนตรี 5 ชิ้น คือ ปี่ ตะโพน ฆ้อง กลอง ฉิ่ง ต่อมาได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเจริญถึงขีดสุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีการเพิ่มระนาดเข้าไปในภายหลัง วงปี่พาทย์ในปัจจุบันแบ่งออกได้ 7 แบบ ตามการจัดกลุ่มเครื่องดนตรีดังนี้ 

ปี่พาทย์ชาตรี - ปี่นอก, ฆ้องคู่, โทนชาตรี, กลองชาตรี, ฉิ่ง, กรับ
ปี่พาทย์เครื่องห้า - ปี่ใน
, ฆ้องวงใหญ่, ระนาด, ตะโพน, กลองทัด, ฉิ่ง
ปี่พาทย์เครื่องคู่ - ปีใน
, ปี่นอก, ฆ้องวงใหญ่, ฆ้องวงเล็ก, ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม, ตะโพน, กลองทัด, ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง
ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ - ปีใน
, ปี่นอก, ฆ้องวงใหญ่, ฆ้องวงเล็ก, ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม,ระนาดเหล็ก, ระนาดทุ้มเหล็ก, ตะโพน, กลองทัด, ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง
ปี่พาทย์นางหงส์
- ปี่ชวา, ฆ้องวงใหญ่, ฆ้องวงเล็ก, ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม, กลองมลายู, ฉิ่ง
ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
- ขลุ่ยเพียงออ, ขลุ่ยอู้, ฆ้องวงใหญ่, ฆ้องหุ่ย, ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม, ระนาดทุ้มเหล็ก, ซออู้, ตะโพน, กลองตะโพน, กลองแขก, ฉิ่ง (กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้คิดขึ้น)
ปี่พาทย์มอญ
- ปี่มอญ, ฆ้องมอญ, ระนาด, เปิงมางคอก, ตะโพนมอญ, โหม่งมอญ,ฉิ่ง ฉาบ (จัดเครื่องดนตรีตามแต่ว่าจะเป็นชุดเครื่องเล็ก, เครื่องใหญ่หรือเครื่องคู่)

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

ปี่นอก






             ปี่นอก เป็นปี่ที่มีเสียงสูงสุดในบรรดาเครื่องเป่าตระกูลปี่ใน ลักษณะมีขนาดเล็กและเสียงแหลม มีความยาวประมาณ 31 เซนติเมตร มึความกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร มีลักษณะบานหัวบานท้ายเช่นเดียวกับปี่ใน บริเวณเลาปี่ที่ป่องเจาะรู 6 รู ปี่นอกใช้เล่นในวงปี่พาทย์ไม้แข็งและวงปี่พาทย์ชาตรี
             ปี่ เป็นเครื่องดนตรีไทย ทำด้วยไม้จริงเช่นไม้ชิงชันหรือไม้พยุง กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ตรงกลางป่อง เจาะภายในให้กลวงตลอดเลา ทางหัวของปี่เป็นช่องรูเล็ก ส่วนทางปลายของปี่ปากรูใหญ่ใช้ชันหรือวัสดุอย่างอื่นมาหล่อเสริมขึ้นอีกราว ข้างละ ครึ่งซม.
             ส่วนหัวเรียก ทวนบน ส่วนท้ายเรียก ทวนล่าง ตอนกลางของปี่ เจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงลงมาจำนวน 6 รู แต่สามารถเป่าได้เสียงตรง 24 เสียง กับเสียงควงหรือเสียงแทนอีก 8 เสียง รวมเป็น 32 เสียง
             รูตอนบนเจาะเรียงลงมา 4 รู เว้นระยะห่างเล็กน้อย เจาะรูล่างอีก 2 รู ตรงกลางของเลาปี่ กลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ไว้เป็นจำนวน 14 คู่ เพื่อความสวยงามและกันลื่นอีกด้วย ตรงทวนบนนั้นใส่ลิ้นปี่ที่ทำด้วยใบตาลซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดให้กลมแล้วนำไปผูกติดกับท่อลมเล็กๆที่ เรียกว่า กำพวด เรียวยาวประมาณ 5 ซม.
             กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน นาก หรือโลหะอย่างอื่นวิธีผูกเชือกเพื่อ ให้ใบตาลติดกับกำพวดนั้น ใช้วิธีผูกที่เรียกว่า ผูกตะกรุดเบ็ด ส่วนของกำพวดที่จะต้องสอดเข้าไปเลาปี่นั้น เขาใช้ถักหรือเคียน ด้วยเส้นด้าย สอดเข้าไปในเลาปี่ให้พอมิดที่พันด้ายจะทำให้เกิดความแน่นกระชับยิ่งขึ้น
 

ขลุ่ยเพียงออ


         เป็นขลุ่ยที่มีระดับเสียงอยู่ในช่วงปานกลาง คนทั่วไปนิยมเป่าเล่น ใช้ในวงมโหรีหรือเครื่องสายทั่ว ๆ ไป โดยเป็นเครื่องตามหรืออาจใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวาก็ได้แต่เป่ายากกว่าขลุ่ย หลิบเนื่องจากเสียงไม่ตรงกับเสียงชวาเช่นเดียวกับนำ
         ขลุ่ยหลิบมาเป่าในทางเพียงออต้องทดเสียงขึ้นไปให้เป็นคู่ 4 นอกจากนี้ยังใช้ในวงปี่พาทย์ไม้นวมแทนปี่อีกด้วย โดยบรรเลงเป็นพวกหน้า

ขิม


                     ขิมแต่เดิมแล้วนั้นเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นเครื่องดนตรีที่เป็นของ ประเทศจีนขิมเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวฯ รัชกาลที่4แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดน นำมารวมอยู่ในวงเครื่องสายจีนซึ่งนำมาใช้ในการประกอบการแสดงงิ้ว และนำมาบรรเลงในงานเทศกาลต่าง ๆ จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 6
                     นักดนตรีของไทยได้มาขิมของจีนแต่เดิมมาบรรเลงและได้ดัดแปลงแก้ไขบางอย่างคือ เปลี่ยนจากสายลวดมาเป็นสายทองเหลืองให้มีขนาดโตขึ้นเทียบเสียงเรียงลำดับไป ตลอดถึงสายต่ำสุดเสียงคู่แปดมือซ้ายและมือขวามีระดับเกือบจะตรงกันเปลี่ยน ไม้ตีให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและก้านแข็งขึ้น หย่องที่หนุนสายมีความหนากว่าเดิมเพื่อให้เกิดความสมดุลและเพื่อเพิ่มเสียง ให้มีความดังมากยิ่งขึ้นและไม่ให้เสียงที่ออกมามีความแกร่งกร้าวจนเกินไป ให้ทาบหนังหรือสักหลาดตรงปลายไม้ตีส่วนที่กระทบกับสายทำให้เกิดความนุ่นนวล และได้รับความนิยมบรรเลงร่วมอยู่ในวงเครื่องสายผสมของไทยในปัจจุบัน 

ฆ้อง






               ฆ้อง ตัวฆ้องทำด้วยโลหะแผ่นรูปวงกลมตรงกลางทำเป็นปุ่มนูน เพื่อใช้รองรับการตีให้เกิดเสียงเรียกว่า ปุ่มฆ้อง ต่อจากปุ่มเป็นฐานแผ่ออกไป แล้วงองุ้มลงมาโดยรอบเรียกว่า "ฉัตร" ส่วนที่เป็นพื้นราบรอบปุ่มเรียกว่า "หลังฉัตร" หรือ " ชานฉัตร" ส่วนที่งอเป็นขอบเรียกว่า "ใบฉัตร" ที่ใบฉัตรนี้จะมีรูเจาะสำหรับร้อยเชือกหรือหนังเพื่อแขวนฆ้อง ถ้าแขวนตีทางตั้งจะเจาะสองรู ถ้าแขวนตีทางนอนจะเจาะสี่รู 
               การบรรเลง ฆ้องใช้ในการบรรเลงได้สองลักษณะคือ ใช้ตีกำกับจังหวะ และใช้ตีดำเนินทำนอง ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะได้แก่ ฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องโหม่ง ฆ้องเหม่ง ฆ้องระเบ็ง และฆ้องคู่ 
              ฆ้องที่ใช้ตีดำเนินทำนอง ได้แก่ ฆ้องราง ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมโหรี ฆ้องมอญ ฆ้องกะแตและฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องกะแต ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ลูกฆ้องมีขนาดเล็ก จำนวน ๑๑ ลูก 

ระนาดทุ้ม








                  เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม  กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ยๆรองไว้ 4 มุมราง

ระนาดเอก



            ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลายๆอันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่างๆกันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมา ติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า “ลูกระนาด” เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า “ผืน”
         ลูกระนาดนี้ทำด้วยไม้ไผ่บง หรือไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พะยุงก็ได้ โดยนำมาเหลาให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วทำรางเพื่ออุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ให้หัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า รางระนาด แผ่นไม้ที่ปิดหัวท้ายรางระนาดเราเรียกว่า “โขน” ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม มีเท้ารอง  รางเป็นเท้าเดี่ยว รูปคล้ายกับพานแว่นฟ้า

สะล้อ

                  
                   สะล้อ หรือซอล้อ หรือที่ปรากฎในเอกสารโบราณว่า "ทรอ" หรือ"ธร้อ" นั้น มีส่วนประกอบที่ไม่สับซ้อน มีสาย 2หรือ3 สาย เป็นตัวกำเนิดเสียง และมีตัวกำธรทำด้วยมะพร้าว ส่วนประกอบอื่นๆได้แก่ ด้าม หรือ คัน หลักสาย(ลูกบิด) และก๊อบ (หย่อง)
                   ด้ามสะล้อที่ดีตามทัศนะของของนักดนตรีและสล่า ควรเป็นไม้เนื้อแข็งจำพวกชิงชัน ไม้ประดู่ หรือไม้มะเกลือ แต่ไม้เหล่านี้ หายากและมีราคาสูงสล่าจึงใช้ไม้อย่างอื่น เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน ไม้แดงหรือไม้ยางทำ โดยทั่ว ๆไปด้ามมักมีลักษณะกลม ด้านที่มีลูกบิดมีขนาดโตกว่าด้านที่เสียบทะลุกะลามะพร้าว ยอดเหนือลูกบิดขึ้นไปสามารถกลึงเป็นหัวบัว หรือ สลักเป็นรูปต่างๆตามความประสงค์ได้
กะลามะพร้าวที่ใช้ทำกล่องกำธรเสียงนั้น จะตัดออกไม่เกิน 1/3 ของกะลาทั้งลูก ปิดที่เหลือด้วยแผ่นไม้บางๆเรียงว่า "ตาด" ด้านหลังเจาะรูเสียง ซึ่งอาจเป็นรูลักษณะต่างๆ หรือมีลวดลายแกะสลักประกอบด้วยกะลามะพร้าวนี้จะขูดให้บางและขัดให้ เรียบก่อนประกอบกับด้าม
                   สายสล้อในปัจจุปัน พบว่าทำด้วยสายกีต้าเป็นส่วนมาก นอกนั้นทำด้วยสายห้ามล้อรถจักรยานและสายไวโอลีน
                   ก๊อบ หรือ หย่อง ซึ่งวางรับสายอยู่บนตาดสล้อนั้น จะค่อนขึ้นมาทางขอบลน ทั้งนี้เพื่อให้ตำแหน่งที่คันชักสัมผัสสายสล้อ อยู่ไม่ห่างเกินไปอันจะทำให้เสียงไม่มีพลังกังวาน
คันชักสล้อ มักทำด้วยไม้ไผ่เหลากับสายไนลอน ในอดีตนิยมใช้สายหางม้า แต่ปัจจุปันขนหางม้าหายาก สล่าจึงใช้สายไนลอนแทนโดยมียางไม้จำพวกชัน หนือยางสนใช้ถูสายคันชักให้มีความฝืด

ซออู้

                เป็นเครื่องสายใช้สี กล่องเสียงทำด้วยกะลามะพร้าวเรียกว่า “กะโหลกซอ” ตัดตามยาวให้พูอยู่ข้างบน ใช้เป็นเครื่องอุ้มเสียง ขึงหน้าด้วยหนังวัว คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตอนบนมีลูกบิดสำหรับขึงสาย สายซอทำด้วยไหมฟั่นมีคันชักอยู่ระหว่างสาย กะโหลกและทวนบางคันก็แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงสวยงามน่าดู ซออู้มีเสียงทุ้มต่ำ บรรเลงคู่และสอดสลับกับซอด้วงในวงเครื่องสายและวงมโหรี เมื่อราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาภายหลังได้นำเข้ามาบรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ไม้นวม และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ด้วย ในการปรับปรุงวงดนตรีประกอบการแสดงละครของกรมศิลปากรซึ่งจัดแสดง ณ โรงละครศิลปากร ได้ปรับปรุงวงปี่พาทย์โดยให้ซออู้บรรเลงร่วมด้วยตามโอกาส


ซอด้วง


                 ซอด้วง เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย มีเสียงสูงแหลม การที่เรียกซอชนิดนี้ว่า "ซอด้วง" เพราะส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียงมีรูปร่างคล้ายเครื่องมือสำหรับดักสัตว์ ที่เรียกว่า "ด้วง"

ลักษณะทั่วไปของซอด้วงมีส่วนประกอบดังนี้
               
                 กระบอก คือ ส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียงให้เกิดกังวาน ที่เรียกว่า "กระบอก" เพราะมีรูปร่างเหมือนกระบอกไม้ไผ่ ยาวประมาณ 13 ซม. หน้าซอกว้างประมาณ 6 ซม. กระบอกนี้ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ดำดง บางทีทำด้วยรากต้นลำเจียกก็มี ที่นิยมว่าสวยงามนั้นทำด้วยงาช้าง ถ้าต้องการเสียงนุ่มนวลให้ใช้ไม้ลำเจียก ไม้ตาล เสียงแหลมกว้างให้ใช้ไม้ชิงชัน เสียงกลมให้ใช้ไม้พะยูง และเสียงแหลมเล็กให้ใช้ไม้ประดู่ ด้านหน้าของกระบอกมีวัสดุบางๆ ขึงปิดหน้า ส่วนใหญ่นิยมใช้หนังงูเหลือม ถ้าไม่มีหนังงูเหลือมจะใช้หนังแพะ หนังลูกวัว หรือกระดาษว่าวปิดซ้อนกันหลายๆ ชั้นก็ได้ แต่คุณภาพเสียงจะสู้หนังงูเหลือมไม่ได้
                 คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้าง มีลักษณะกลมยาว สอดปักที่กระบอกและตั้งตรงขึ้นไป คันซอด้วงแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงบนตั้งแต่ใต้ลูกบิดขึ้นไปจนถึงปลายคันมีรูปร่างเป็นเหลี่ยมคล้ายโขนเรือ เรียกว่า "โขน" ไม่เรียก "ทวนบน" เหมือนซอสามสายหรือซออู้ ปลายโขนโค้งงอนไปทางด้านเปิดของกระบอก ส่วนคันซอตอนล่างนับตั้งแต่ใต้ลูกบิดลงไป เรียกว่า "ทวนล่าง" ถ้าเป็นซองาช้างมักมีส่วนที่ทำด้วยไม้มะเกลือหรือมุกประดับอยู่กลางทวนเพื่อ ความสวยงาม
                 ลูกบิด มี 2 ลูก เสียบอยู่ช่วงล่างของโขนหรือเหนือทวนล่าง ปลายลูกบิดเจาะรูไว้สำหรับร้อยสายซอเพื่อขึงให้ตึงตามความประสงค์ของผู้ บรรเลง หัวลูกบิด (ที่มือจับ) ประดิษฐ์เป็นรูปคล้ายหัวเม็ดทรงมัณฑ์ หันไปทางเดียวกับส่วนปลายของโขนซอ ใช้สำหรับหมุนให้สายตึงหรือหย่อน ลูกบิดลูกล่างสำหรับสายที่มีเสียงสูง เรียกว่า "ลูกบิดสายเอก" ลูกบนสำหรับสายที่มีเสียงต่ำ เรียกว่า "ลูกบิดสายทุ้ม"
                 รัดอก คือ บ่วงเชือกสำหรับรั้งสายซอ นิยมใช้ขนาดเดียวกับสายเอกใช้ผูกรั้งสายซอทั้ง2 เข้ากับทวนล่าง พันโดยรอบประมาณ 4 รอบ เพื่อให้ได้คู่เสียงของสายเปล่าที่ชัดเจน รัดอกนี้จะอยู่ต่ำกว่าลูกบิดลูกล่างประมาณ 13 ซม.
                 หย่อง คือ ไม้ชิ้นเล็กๆ หนาประมาณ 3 มม. ใช้หนุนสายซอให้พันขอบกระบอก และเป็นตัวกลางรับความสั่นสะเทือนจากสายซอไปยังหน้าซอ
                 คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง รูปโค้ง ด้านมือจับมีหมุดสำหรับเป็นหลักให้เส้นหางม้าคล้อง อีกด้านหนึ่งเจาะรูไว้เพื่อร้อยหางม้าแล้วขมวดให้แน่นให้เส้นหางม้าตึง ใช้เส้นทางม้าประมาณ 250 เส้นรวมกันขึงกับคันชักให้ตึงคล้ายคันกระสุน คันชักยาวประมาณ 74 ซม. ส่วนที่ขึงหางม้ายาวประมาณ 65 ซม. สอดเส้นหางม้าให้อยู่ภายในระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม สำหรับชักเข้าชักออกซึ่งเรียกว่า "สี" ให้เส้นหางม้าถูกับสายซอ เส้นหางม้านั้นนิยมใช้ยางสนถูเพื่อให้มีความฝืดมากพอที่จะใช้สีกับสายซอให้ เกิดเสียงดัง
                  การเทียบเสียงซอด้วงใช้สายเอกเป็นหลัก โดยเทียบเสียงให้ตรงกับเสียงขลุ่ยเพียงออปิดรูปทั้ง 2 มือ เว้นนิ้วก้อยรูล่าง แล้วเป่าแหบ (อนุโลมเท่ากับเสียง เร (D) ของโน้ตสากล) สายทุ้มตรงกับเสียงขลุ่ยเพียงออปิดรูมือบนทั้งหมด แล้วเป่าธรรมดา (อนุโลมเท่ากับเสียง ซอล (G) ของโน้ตสากล) หรือเทียบสายทุ้มให้ต่ำลงมาจากสายเอก 4 เสียง เป็นคู่ 5 กับสายเอก สำหรับบรรเลงกับวงเครื่องสายหรือวงมโหรี
                  หน้าที่สำคัญของซอด้วง คือ ใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี เมื่อบรรเลงอยู่ในวงเครื่องสาย ผู้บรรเลงซอด้วงมีหน้าที่เป็นผู้นำวง และดำเนินทำนองเนื้อเพลงเป็นหลักของวง แต่เวลาบรรเลงอยู่ในวงมโหรีมีหน้าที่เพียงดำเนินเนื้อเพลงเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เป็นผู้นำวงเพราะในวงมโหรีมีระนาดเอกซึ่งเสียงดังกว่าทำหน้าที่ เป็นผู้นำวงอยู่แล้ว ส่วนวิธีบรรเลงของซอด้วงนี้ มีทั้งสีทำนองเก็บและทำนองอ่อนหวานเป็นเสียงยาวๆ แล้วแต่ลักษณะของทำนองเพลงในตอนนั้นๆ

พิณ


                พิณ เป็นเครื่องดนตรีประเภทสายดีดมี ๒-๓ สาย แต่ขึ้นเป็นสองคู่ โดยขึ้นคู่ ๕ ดีดเป็นทำนองเพลง ตัว พิณและคันทวนนิยมแกะด้วยไม้ชิ้นเดียวกัน มีนมสำหรับตั้งเสียง สายพิณนิยมทำด้วยโลหะ โดยเฉพาะสายลวดเบรคจักรยาน ที่ดีดนิยมทำด้วยขาสัตว์แบนๆ เหลาให้บางพอที่จะดีด สะบัดได้  
                พิณ ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ เฉพาะพิณของชาวอีสาน ซึ่งแม้แต่ชาวอีสานเอง ก็เรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้แตกต่างกันออกไป เช่น แถบอุบล เรียกว่า “ซุง” ชัยภูมิเรียกว่า “เต่ง” หรือ “อีเต่ง” หนองคาย เรียกว่า “ขจับปี่” เป็นต้น แต่ชื่อสามัญที่คนทั่วไปใช้เรียก คือ “พิณ” นั่นเอง 
                พิณสมัยก่อน มีเฉพาะพิณโปร่ง นิยมทำจากไม้ขนุน เนื่องจาก ให้เสียงกังวานใสดี เกิดกำทอนดี ไม้ขนุน เนื้อไม่แข็งมาก ใช้มีด ใช้สิ่วเจาะทำพิณได้ไม่ยาก จริงๆ แล้ว ไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ไม้มะหาด ไม้ยูง ก็ให้เสียงกังวานใสดีเช่นกัน แต่เนื้อไม้ค่อนข้างแข็งมาก และค่อนข้างหายาก จึงไม่นิยมนำมาทำพิณ ไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ไม้มะเหลื่อม ไม้ฉำฉา เป็นต้น ก็ทำพิณได้เช่นกัน แต่เสียงอาจจะไม่แน่นดี ซึ่งหากจะเอาแค่ดีดแล้วมีเสียงดัง จะใช้ไม้อะไรก็ได้ที่ขึงสายแล้วตัวพิณไม่หัก นอกจากนั้น ช่างทำพิณบางคน อาจทำเต้าพิณจากกะลา น้ำเต้า บั้งไม้ไผ่ กระดองเต่า ใช้หนังสัตว์ เช่นหนังงู เป็นต้น ทำเป็นแผ่นประกบปิดเต้าพิณ 
                พิณสมัยปัจจุบัน มีทั้งพิณโปร่ง พิณไฟฟ้า และพิณโปร่งไฟฟ้า  
                สายพิณ สมัยโบราณ เข้าใจว่า คงใช้เชือกหรือหนัง จากนั้น เมื่อมีรถจักรยานแล้ว ก็หันมาใช้สายเบรกรถจักรยานแทน แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีผู้ผลิตสายกีตาร์จำหน่าย จึงหันมาใช้สายกีตาร์โปร่งสำหรับพิณโปร่ง สายกีตาร์ไฟฟ้าสำหรับพิณไฟฟ้า
                พิณ มีเสียงกังวานสดใส สามารถบรรเลงเพลงได้ทั้งจังหวะอ่อนหวาน เศร้ารันทด และสนุกสนานครื้นเครง เข้าถึงอารมณ์แบบพื้นบ้าน พิณจึงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของคนอีสาน

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

กระจับปี่


       

                   กระจับปี่ เป็นพิณชนิดหนึ่ง มี ๔ สาย กระพุ้งพิณมีลักษณะ เป็นกล่องแบน รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูมุมมนด้านหน้าทำเป็นช่อง ให้เสียงกังวาน ทวนทำเป็นก้านเรียวยาวและกลมกลึงปลายแบน และงอนโค้งไปด้านหลัง ตรงปลายทวนมีลิ่มสลักเป็นลูกบิดไม้ สำหรับขึ้นสาย ๔ ลูก สายส่วนมากทำด้วยสายเอ็น หรือลวดทองเหลือง ตลอดแนวทวนด้านหน้าทำเป็น "สะพาน"หรือ นม ปักทำด้วยไม้ เขาสัตว์หรือกระดูกสัตว์ สำหรับหมุนสายมี ๑๑ นมกระจับปี่พัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งของอินเดีย มีต้นกำเนิดจากการดีดสายธนูตามหลักฐานพบว่า กระจับปี่มีมาตั้งแต่ สมัยสุโขทัย 







จะเข้



                         จะเข้ เป็นเครื่องด นตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย เข้าใจว่าได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพิณ คือ กระจับปี่ซึ่งมี 4 สาย นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมาก ทำให้กระจับปี่ค่อย ๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหาผู้เล่นเป็นน้อย
                         ตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหาง โดยลักษณะทาง ตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาประมาณ 12 ซม. ยาวประมาณ 52 ซม. และกว้างประมาณ 11.5 ซม. ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอด รวมทั้งสิ้นมีความยาวประมาณ 130 – 132 ซม. ปิดใต้ทองด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารอง ตอนหัว 4 เท้า และตอนปลายปางอีก 1 เท้า วัดจากปลายเท้าถึงตอนบนของตัวจะเข้ สูงประมาณ 19 ซม. ทำหลังนูนตรงกลาง ให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น 3 สาย มีลูกบิดประจำสายละ 1 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนจะถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า นม รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น 11 อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูง เรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ 2 ซม. จนสูง 3.5 ซม.
                         เวลาบรรเลงใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยง าช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายข ณะกดสายด้วย